คุณกำลังมองหาอะไร?

 

 

 



ประวัติและความเป็นมาของกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 9 ตุลาคม 2545 ตั้ง “กองสุขาภิบาลชุมชนและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ” ภายใต้พันธกิจ : เป็นหน่วยงานหลักในการผลิต พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี รูปแบบ แนวทาง เกณฑ์มาตรฐานด้านสุขาภิบาลชุมชนและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายในการสร้างเสริมสุขภาพ 

 

ต่อมา กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการในกระทรวงสาธารณสุข ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ 28 ธันวาคม 2552 เปลี่ยนชื่อ กองสุขาภิบาลชุมชนและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เป็น “กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ” โดยมีบทบาทภารกิจดังนี้

1. ศึกษา วิจัย พัฒนาและประยุกต์ องค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

2. พัฒนาระบบ กลไก และรูปแบบการดำเนินการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาระบบและรูปแบบการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม

3. ถ่ายทอดและพัฒนาศักยภาพ ขีดความสามารถ ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ ประสานงานร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

4. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย


การดำเนินงานและการพัฒนา

นับตั้งแต่ก่อตั้ง กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพได้มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ การพัฒนากลไกการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะพัฒนาและขยายขอบเขตการดำเนินงานเพื่อรองรับความท้าทายด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ในประเทศไทย โดยพัฒนาการตั้งแต่ก่อตั้งกองฯ จนถึงปัจจุบัน มีดังนี้

พ.ศ. 2545: ก่อตั้งกองฯ โดยเน้นบทบาทหลักในด้านสุขาภิบาลและการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ
พ.ศ. 2546–2549: เน้นการสร้างองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ HIA ภายในบทบาทภารกิจกรมอนามัย โดยเริ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับสุขาภิบาลและปัญหาสาธารณสุขในท้องถิ่น
พ.ศ. 2550–2554: มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างสำคัญ โดย HIA ได้ถูกบูรณาการเข้าสู่กฎหมายระดับชาติ เช่น พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มีการริเริ่มพัฒนาตัวชี้วัดสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาต่าง ๆ 
พ.ศ. 2555–2558: มุ่งพัฒนาคู่มือ แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และขยายการประยุกต์ใช้ HIA ในระดับท้องถิ่น ตลอดจนการขยายขอบเขตงานที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาฐานข้อมูลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม 
พ.ศ. 2559–2566: ขยายขอบเขตงานเพื่อครอบคลุมการพัฒนาเครื่องมือ HIA ที่ทันสมัย การเสริมสร้างระบบเฝ้าระวังสุขภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เสี่ยง และศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความเสี่ยงใหม่ ๆ ในประเทศไทย


มุ่งสู่อนาคต
ในปัจจุบัน กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ยังคงดำเนินงานด้วยพันธกิจที่ชัดเจน คือ การพัฒนาการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ การเฝ้าระวังสุขภาพสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี เรามุ่งมั่นในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและการดูแลสุขภาพของประชาชน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีสำหรับประชาชนคนไทย