คุณกำลังมองหาอะไร?

 

นิยาม HIA

    “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ” หมายถึง กระบวนการ วิธีการ และเครื่องมือที่หลากหลาย ที่ใช้เพื่อการคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย แผนงานหรือโครงการ ที่มีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และการกระจายของผลกระทบในกลุ่มประชากร และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจะกำหนดถึงกิจกรรมที่เหมาะสม ในการจัดการผลกระทบเหล่านั้น (องค์การอนามัยโลก/IAIA 2006)

 

หลักการ

     การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยกำหนดสุขภาพอย่างรอบด้าน โดยมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพในระดับต่างๆ พร้อมกับลดภัยคุกคามต่อสุขภาพ โดยใช้วิธีการและเครื่องมือหลายชนิดร่วมกัน รวมทั้งข้อมูล หลักฐานทางวิชาการอย่างมีจริยธรรม เพื่อให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของปัจจัยและผลที่เกิดจากการดำเนินโครงการและเพื่อหามาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากการดำเนินโครงการ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน หรือประชาชนให้น้อยที่สุด โดยควรใช้ก่อนจะมีการดำเนินโครงการ ซึ่งช่วยให้ผู้ประเมินผลกระทบต่อสุขภาพมีมุมมองที่รอบคอบและรอบด้านมากขึ้น เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผู้ประเมินต้องอธิบายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของโครงการในแต่ละช่วงเวลา อันส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยกำหนดสุขภาพ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมการให้บริการสาธารณะ และการสาธารณสุข รวมทั้งผู้ประเมินต้องวิเคราะห์ให้เห็นว่าปัจจัยกำหนดสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งคุกคามสุขภาพในกลุ่มประชาชนกลุ่มใดบ้าง โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ควรอธิบายได้ว่าผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นมีผลต่อบุคคล ชุมชน สังคมอย่างไรบ้าง และท้ายที่สุดเพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะและมาตรการในการจัดการกับผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างเหมาะสม อันนำไปสู่การคุ้มครองสุขภาพของประชาชนในชุมชนต่อไป

 

ความสำคัญและคุณค่า

ตามข้อตกลง Gothenburg ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของ HIA ดังนี้

  1. ใช้หลักการประชาธิปไตย (Democracy) โดยเน้นถึงสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจนโยบายโครงการหรือกิจกรรม ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และกระบวนการมีส่วนร่วม ต้องอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส

  2. คำนึงถึงความเท่าเทียมกัน (Equity) HIA ควรมุ่งเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมที่จะเป็นอุปสรรคต่อการมีสุขภาพและสังคมที่ดี ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว HIA จึงให้ความสำคัญกับ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส หรือกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบทางลบต่อสุขภาพ (Vulnerable Groups) เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า โครงการหรือกิจกรรมพัฒนานั้น จะเอื้อประโยชน์หรือเกิดผลกระทบทางบวกต่อประชาชนกลุ่มเหล่านี้ให้มากที่สุด และข้อเสนอแนะมาตรการลดผลกระทบทางลบที่อาจจะเกิดขึ้น สามารถป้องกันหรือลดผลกระทบทางลบให้เหลือน้อยที่สุด

  3. คำนึงถึงหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) HIA เน้นเป้าหมายทางสุขภาพให้ทุกคนมีความพร้อมและสามารถเลือกแนวทางการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของตนเองได้ตามศักยภาพที่มีอยู่ และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

  4. การใช้ข้อมูลหลักฐานทางวิชาการอย่างมีจริยธรรม (Ethical use of evidence) HIA ประยุกต์ใช้ข้อมูลและหลักฐานที่ได้จากวิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ หลายวิธีการร่วมกัน โดยนักวิชาการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องหลากหลายสาขา

  5. ความครอบคลุมด้านสุขภาพแบบองค์รวม (Comprehensive approach to health) HIA คำนึงถึงสุขภาพทั้งกาย จิต สังคม และพิจารณาปัจจัยกำหนดสุขภาพอย่างรอบด้าน

ดังนั้น HIA จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำมาใช้เพื่อระบุ คาดการณ์ และพิจารณาถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากนโยบาย โครงการ หรือกิจกรรม ที่อาจจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้วกับประชากรทุกๆ กลุ่ม และนำเสนอข้อมูลแก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ

 

ประโยชน์

 

ประเภทของ HIA

การแบ่งประเภทของ HIA ตามขนาดของการดำเนินงาน (WHO, 2005) แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพแบบเร่งด่วน (Rapid HIA) การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพแบบเร่งด่วนมักใช้สำหรับการพิจารณานโยบายหรือโครงการขนาดเล็กที่มีความซับซ้อนของผลกระทบทางสุขภาพไม่มากนัก หรือใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องได้รับทราบผลการประเมิน ผลกระทบอย่าง เร่งด่วน เพื่อให้สามารถนำเสนอผลการประเมินดังกล่าวได้ทันกับกระบวนการตัดสินใจที่กำลังจะเกิดขึ้น การประเมินแบบเร่งด่วนจึงใช้ระยะเวลาอันสั้นและเน้นการมีส่วนร่วมและประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นหลัก

    ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในรูปแบบนี้มักได้มาจาก
    1)ความรู้และการรับรู้ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้ประเมิน

    2)ข้อมูลหลักฐานที่มีอยู่แล้ว

    3)ประสบการณ์ความรู้ที่ได้จากการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของนโยบายหรือโครงการที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

  2. การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพแบบรอบด้าน (Comprehensive or Full-scale HIA) การประเมินผลกระทบแบบรอบด้านมักใช้สำหรับการพิจารณานโยบายหรือโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งมีความซับซ้อนของผลกระทบต่อสุขภาพสูง มีความต่อเนื่องยาวนานทางนโยบายหรือการดำเนินโครงการ และมีผลกระทบต่อสุขภาพกับประชาชนในวงกว้าง รวมถึงมีความพร้อมในเชิงทรัพยากร และไม่มีเหตุที่ต้องเร่งรัดในการตัดสินใจ

    ข้อมูลที่นำมาใช้ในการประเมินในรูปแบบนี้มักได้มาจาก
    1)ความรู้และการรับรู้ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ
    2) ทบทวนวรรณกรรม หลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่โดยผู้ประเมิน
    3)ทบทวนผลงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในโครงการอื่นๆ ที่มีลักษณะโครงการที่ใกล้เคียงกัน
    4)การเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นเฉพาะ รวมถึงอาจมีการวางระบบการติดตามและเก็บข้อมูลระยะยาว

  3. การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพแบบปานกลาง (Intermediate HIA) ข้อมูลที่ใช้ในการประเมิน เช่นเดียวกับการประเมินแบบรอบด้าน แต่ระยะเวลาที่ใช้ในการประเมินสั้นกว่าเนื่องจากอาจมีความซับซ้อนของปัญหาน้อยกว่า มีความพร้อมในทางทรัพยากรน้อยกว่า หรือมีข้อจำกัดของเวลาในการนำเสนอผลการประเมินเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ

    ข้อมูลที่นำมาใช้ในการประเมินในรูปแบบนี้มักได้มาจาก
    1)ความรู้และการรับรู้ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ
    2)ทบทวนวรรณกรรม หลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่โดยผู้ประเมิน
    3)ทบทวนผลงานการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในโครงการอื่นๆ ที่มีลักษณะโครงการที่ใกล้เคียงกัน
    4)การเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นเฉพาะ

 

ขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

     การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 5 ขั้นตอน ดังนี้

1) การกลั่นกรอง (Screening) เป็นขั้นตอนแรกของการคัดเลือกโครงการ ว่าเข้าข่ายต้องทำ HIA หรือไม่ โดยพิจารณาจากความรุนแรงของผลกระทบ จำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบ ข้อมูลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยกรทบทวนข้อมูลที่มีอยู่ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เมื่อพิจารณาแล้วว่าโครงการเข้าข่ายต้องทำ HIA จึงดำเนินกิจกรรมที่จำเป็นต่อการทำ HIA ต่อไป ได้แก่ การจัดตั้งทีมงาน HIA ซึ่งควรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ที่มีความรู้และเกี่ยวข้องกับโครงการหรือกิจกรรมที่จะทำ HIA

2) การกำหนดขอบเขต (Scoping) เป็นการกำหนดขอบเขตทั้งในเชิงพื้นที่ กลุ่มประชากรเป้าหมาย ระยะเวลา และการบ่งชี้ผลกระทบต่อสุขภาพต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

3) การประเมินผลกระทบ (Appraisal) เป็นการประเมินผลกระทบที่ได้ระบุไว้ในขั้นตอนการกำหนดขอบเขต โดยวิเคราะห์ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ และจัดลำดับความสำคัญของผลกระทบ เพื่อนำมากำหนดมาตรการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพ และมาตรการติดตามตรวจสอบ

4) การจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะ (Reporting and Recommendations) เป็นการสรุปผลและจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงรายละเอียดการดำเนินงานตามโครงการ เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และนำเสนอต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อพิจารณาดำเนินงานต่อไป เช่น การออกข้อกำหนดท้องถิ่น การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เป็นต้น

5) การติดตามตรวจสอบและประเมินผล (Monitoring and Evaluation) หลังจากที่มีการดำเนินโครงการไปแล้ว จะต้องมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำแนะนำในการลดผลกระทบ

 

  ภาพ: ขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ

 

แนวทางการประยุกต์ใช้

การประยุกต์ใช้ HIA ให้พิจารณาจากความสำคัญหรือความเร่งด่วนของปัญหา ความเป็นไปได้ที่สำเร็จหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง องค์ความรู้ที่มีอยู่หรือภาคีเครือข่ายที่สามารถให้การสนับสนุน เป็นต้น โดยแบ่งประเด็นที่สามารถทำ HIA ได้ 4 ลักษณะ ดังนี้

1)เป็นปัญหาที่มีการร้องเรียน/เป็นเหตุรำคาญที่กระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

2)เป็นปัญหาจากการประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

3)การออกข้อกำหนดท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535

4)การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นหรือการพัฒนานโยบายสาธารณะของท้องถิ่น