คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การศึกษาการรับรู้และพฤติกรรมการป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

09.12.2565
1588
1
แชร์
09
ธันวาคม
2565

ชื่อเรื่อง : การศึกษาการรับรู้และพฤติกรรมการป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : A Study of Risk Perception and Health Behavior related to Prevention of PM2.5 Exposure among Population in Bangkok Metropolitan Area

ปีพิมพ์ : 2563

บทคัดย่อ :

   สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินมาตรฐานในพื้นที่เขตเมืองในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีสาเหตุจากการคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง และการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การเสริมสร้างความรู้ การสร้างรูปแบบการดูแลป้องกันตนเองและครอบครัวของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาสถานการณ์และหาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่ส่งผลต่อความรอบรู้ของประชาชนคือ ความรู้ ทัศนคติ การรับรู้ และพฤติกรรมการป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละออง PM2.5 ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการใช้แบบสอบถามประชากรกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 1,983 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล กำหนดช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลคือเดือนมกราคมซึ่งเป็นช่วงที่มีสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ดังกล่าวสูงที่สุด และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และใช้สถิติไคสแควร์วิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกัน

ผลการศึกษาพบว่า สถานการณ์ระดับความรู้ ระดับทัศนคติ และระดับการรับรู้ความเสี่ยงเกี่ยวกับ PM2.5 กับสุขภาพของกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่อยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 62.1 84.1 และ 81.5 ตามลำดับ สำหรับด้านพฤติกรรมการป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละออง PM2.5 พบว่าอยู่ในระดับปานกลาง คือ ร้อยละ 42.6 นอกจากนี้ผลการศึกษาความสัมพันธ์ พบว่า ปัจจัยลักษณะประชากร ได้แก่ ระดับการศึกษา การมีโรคประจำตัว และพื้นที่ที่อยู่อาศัย มีความความสัมพันธ์กับระดับความรู้ ระดับทัศนคติ ระดับการรับรู้ความเสี่ยง และระดับพฤติกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และพบว่าระดับความรู้ ระดับทัศนคติ ระดับการรับรู้ความเสี่ยง และระดับพฤติกรรม มีความสัมพันธ์แบบส่งผลต่อกันและกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ         ที่ระดับ 0.01 โดยกลุ่มประชากรที่มีระดับความรู้สูงจะทำให้ระดับทัศนคติสูงและระดับการรับรู้ความเสี่ยงสูง และกลุ่มประชากรที่มีระดับการรับรู้ความเสี่ยงสูงจะทำให้มีระดับพฤติกรรมสูง ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

การศึกษาประเภทแหล่งข้อมูลที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงมากที่สุด พบว่า สื่อโทรทัศน์ เป็นช่องทางที่เข้าถึงได้ง่ายและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มวัยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 83.2 รองลงมาคือ สื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ ร้อยละ 41.0 และแหล่งข้อมูลที่มาจากเพื่อนหรือบุคคลที่รู้จัก ร้อยละ 27.3 ตามลำดับ นอกจากนี้ พบว่า กลุ่มคนที่มีอายุไม่เกิน 40 ปี มีการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์
เป็นสัดส่วนที่มากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ และแหล่งข้อมูลที่มาจากเพื่อนหรือบุคคลที่รู้จัก ยังเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับกลุ่มอายุ 40-59 ปี กับกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

ข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษา ควรเพิ่มมาตรการสื่อสารความเสี่ยง โดยเน้นความรู้และทัศนคติ         ที่ถูกต้อง ผ่านช่องทางที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มวัย และต้องมีการศึกษาเชิงลึกเพื่อให้ทราบถึงปัจจัยอื่นที่มีความสัมพันธ์ต่อการสร้างการรับรู้ การตัดสินใจ และเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาการสร้างความรอบรู้ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละออง PM2.5 อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ถูกต้องในการป้องกันความเสี่ยงจากฝุ่นละออง PM2.5 และสร้างความร่วมมือในการลดปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อไป

นักวิจัย : จิตติมา รอดสวาสดิ์ ,กชพรรณ นราวีรวุฒิ ,วรวรรณ พงษ์ประเสริฐ ,ประทุม สีดาจิตต์ ,ชวิศา แก้วสอน

คำสำคัญ การรับรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมสุขภาพ ฝุ่นละออง PM2.5

ชื่อประชุมวิชาการ : การประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ปี 2563

ไฟล์วารสาร : https://drive.google.com/open?id=1jc2YCAu01gdWH8QIBmUceFeCbV8HQfJE

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

การศึกษาการรับรู้และพฤติกรรมการป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ขนาดไฟล์ 2MB
ดาวน์โหลด 939 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย
Poster การศึกษาการรับรู้และพฤติกรรมการป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ขนาดไฟล์ 270KB
ดาวน์โหลด 452 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน