กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 26 ตุลาคม 2566 นางสาวนัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมด้วยผู้อำนวยการกองพยากรณ์สุขภาพ ร่วมประชุมการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2567 โดยมี นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน การประชุมครั้งนี้ ได้มีการมอบนโยบายการเตรียมความพร้อม ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2567 ซึ่งกรมอนามัยได้นำเสนอมาตรการแนวทางการดำเนินงานฯ โดยแบ่งระดับปฏิบัติการ ตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ใน 4 มาตรการ ดังนี้
1) ส่งเสริมการลดมลพิษ/สื่อสารสร้างความรอบรู้ โดยสื่อสาร ประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างความรอบรู้ และสร้างความเข้มแข็งและจัดการความเสี่ยงของชุมชนและประชาชนส่งเสริมองค์กร GREEN/SECA (รถยนต์ไฟฟ้า/เพิ่มพื้นที่สีเขียวกรองฝุ่น/ลดขยะ)
2) การลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฝ้าระวังสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ
ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น งดกิจกรรมกลางแจ้ง และ Work from home
3) บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยเปิดคลินิกมลพิษและห้องปลอดฝุ่น จัดระบบปฏิบัติเชิงรุกเพื่อดูแลประชาชน (ทีม 3 หมอ/หน่วยแพทย์เคลื่อนที่/จัดหน่วยปฏิบัติการดูแลประชาชน) สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง ระบบรักษาพยาบาลและส่งต่อ ปรับระบบนัดและบริการTelemedicine
4) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยมีระบบบัญชาการเหตุการณ์เมื่อเข้าสู่ระยะวิกฤต ส่งเสริมและขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (พรบ.การสาธารณสุข 2535 และพรบ.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562) และส่งเสริมองค์กรลดมลพิษ
ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ ได้สรุปสถานการณ์และแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ปี 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชี้แจงแนวทางการการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) แนะนำการใช้งาน Mobile Application Life Dee รวมทั้งหน่วยงานภาคสาธารณสุข (กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ และกองสาธารณสุขฉุกเฉิน และกรมอนามัย) ได้ชี้แจงแนวทางการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขฯ ทั้งการสื่อสารแจ้งเตือน การเฝ้าระวังด้านสุขภาพและกลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง การเปิดคลินิกมลพิษ ห้องปลอดฝุ่น แนวทางการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (PHEOC) การรายงานผลการดำเนินงานฯ และการสนับสนุนทรัพยากร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับในพื้นที่เสี่ยง มีความเข้าใจและเตรียมพร้อมในการรับมือต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก เพื่อปกป้อง คุ้มครอง และสุขภาพประชาชนในช่วงวิกฤติฝุ่นละอองขนาดเล็ก ต่อไป