กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 3 - 4 ธันวาคม 2566 กองประเมินผลกระต่อสุขภาพ และศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ร่วมประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) “เพราะเฮามีลมหายใจ๋เดียวกั๋น” ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่
ในงานนี้ กรมอนามัยได้ร่วมเสวนา โดยอธิบดีกรมอนามัยได้มอบหมายให้แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัยและผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ“การบริหารจัดการอากาศสะอาดอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน” ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประธานคณะทำงานพิจารณาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และรองประธานกรรมการอำนวยการสภาลมหายใจเชียงใหม่ โดยนำเสนอเกี่ยวกับบทบาทภาคสาธารณสุข ในมิติการสร้างและส่งเสริมสุขภาพ การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การเผยแพร่ข้อมูลและการศึกษาเชิงสุขภาพ และการควบคุมมลพิษทางอากาศ ซึ่งถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่ส่งเสริมและผลักดันในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างต่อเนื่อง
นางสาวกรวิภา ปุนณศิริ รองผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ได้รับมอบหมายให้ร่วมเสวนา “นโยบายและมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศที่ประเทศต้องการ” ห้องย่อยที่ 1 ระบบสุขภาพไทยพร้อม เผชิญโรค และผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ โดยได้แลกเปลี่ยนถึงมาตรการภาครัฐการป้องกันผลกระทบจาก PM2.5 ต่อสุขภาพของประชาชน พร้อมส่งเสริมการขับเคลื่อนห้องปลอดฝุ่นในกลุ่มเปราะบาง และขยายไปสู่ภาคเอกชน รวมถึงเสนอให้มีการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชาสังคม (Public-Private Partnership) โดยภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบายในการลดมลพิษทางอากาศ และออกนโยบายที่เอื้อต่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาฝุ่น ภาคเอกชนร่วมมือโดยการลงทุนเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น การลงทุนรถ EV เครื่องจักรที่เป็น low-emission และภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้ ได้ร่วมจัดนิทรรศการเพื่อลมหายใจ เรื่อง “ห้องปลอดฝุ่น” ภายใต้โครงการขับเคลื่อนห้องปลอดฝุ่นเพื่อลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่เสี่ยง โดยนำเสนอถึงแนวทาง รูปแบบการทำห้องปลอดฝุ่น ตัวอย่างการทำห้องปลอดฝุ่น การจัดสภาพแวดล้อม ต้นแบบห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และการใช้แพลตฟอร์มห้องปลอดฝุ่นเพื่อการประเมิน รับรอง และปักหมุดห้องปลอดฝุ่นให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้บริการด้านสาธารณสุขให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ปลอดฝุ่น และนำไปสู่การปลอดโรค มีสุขภาพที่ดี
การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันของประเทศร่วมกันระหว่างภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน วิชาการ ประชาสังคม ด้วยเครื่องมือที่หลากหลายตามบริบทพื้นที่ บูรณาการภายใต้เจตน์จำนงร่วมกัน มุ่งมั่นแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันในระยะยาว พร้อมทั้งหาข้อสรุปนโยบายและมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศ ระดมนวัตกรรมทางสังคม การบริหารจัดการฝุ่นควัน ไฟป่า ซึ่งจะช่วยขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง และดูแลสุขภาพของประชาชนให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีและลดการเจ็บป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศมุ่งสู่ความยั่งยืนต่อไป