กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย จัดอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 8-9 มกราคม 2567 ณ โรงแรมไมด้า งามวงศ์วาน นนทบุรี โดยมีนางสาวนัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเป็นประธานการฝึกอบรม
การฝึกอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดำเนินงานด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพให้มีความรู้ความเข้าใจหลักการ แนวคิด วิธีการ รวมถึงขั้นตอนของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพสามารถประยุกต์ใช้หลักการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในการดำเนินงานตามประเด็นสำคัญของพื้นที่ สนับสนุน ให้คำแนะนำ อปท./สสจ. ในการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ นำไปสู่การจัดการปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ มีผู้เข้ารับการอบรมจากหน่วยงานส่วนกลาง และศูนย์อนามัย จำนวนทั้งสิ้น 45 คน
รูปแบบการอบรม ประกอบด้วย การบรรยายและกิจกรรมกลุ่มฝึกปฏิบัติ ประกอบด้วย การบรรยายความเป็นมาของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ หลักการ แนวคิด และรูปแบบของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ขั้นตอนของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ 5 ขั้นตอน ได้แก่ การกลั่นกรอง การกำหนดขอบเขต การประเมินผลกระทบ การจัดทำรายงานและข้อเสนอ และการติดตามประเมินผล รวมถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดย นางสุกานดา พัดดาดี คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ
นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมการอบรมยังได้รับการบรรยายและฝึกปฏิบัติในขั้นตอนการกลั่นกรอง และการกำหนดขอบเขต โดย ผศ.ดร. วิธิดา พัฒนอิสรานุกูล อาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และการบรรยายและฝึกปฏิบัติในขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ การจัดทำรายงานและข้อเสนอ และการติดตามประเมินผล โดย ดร.เชต ใจกัลยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทั้งจากส่วนกลางและศูนย์อนามัย เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ ประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานตามประเด็นสำคัญของพื้นที่ มีเครือข่ายของผู้ดำเนินงานด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในการทำงาน ผู้เข้ารับการอบรมมีความพึงพอใจต่อการจัดอบรมโดยภาพรวม มีความรู้ความเข้าใจหลังการอบรมมากขึ้น และมีการวางแนวทางในการประยุกต์ใช้ HIA ในพื้นที่
ทั้งนี้ผู้เข้ารับการอบรมมีข้อเสนอแนะต่อกรมอนามัยในการขับเคลื่อนงานด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้
1. ควรมีการขับเคลื่อนงาน HIA อย่างต่อเนื่อง
2. ส่งเสริมการนำกระบวนการ HIA ไปใช้
3. จัดให้มีการอบรมพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง
4. ควรมีการจัดทำแบบฟอร์มสำหรับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่างๆ ให้กับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อความสะดวกมากขึ้น
5. มีการสำรวจ และคืนข้อมูลให้กับศูนย์อนามัยเพื่อเป็นฐานข้อมูลด้าน HIA ทุกมิติ เช่น สุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม ความเสี่ยง เป็นต้น
Download เอกสารประกอบการประชุม
https://drive.google.com/drive/folders/1r-OfWYVSbtggatxQ2Ihk6GwynmzX3c5O?usp=drive_link