กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จัดอบรม เรื่อง การประยุกต์ใช้แนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ในการจัดการความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และพื้นที่เสี่ยงมลพิษสิ่งแวดล้อม ระหว่างวันที่ 6 – 7 มิถุนายน 2567 ณ ห้องประชุม 1 กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ อาคาร 5 ชั้น 6 กรมอนามัย และผ่านระบบ Video Conference โดยมี นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรม และนางสาวนัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ให้การต้อนรับวิทยากร สำหรับการอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพในการเฝ้าระวัง ป้องกัน สื่อสาร และจัดการความเสี่ยงสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งเครื่องมือทางระบาดวิทยา และเครื่องมือประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ ผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชน หน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม ศูนย์อนามัย และหน่วยงานส่วนกลางกรมอนามัย จำนวนทั้งสิ้น 360 คน
การอบรมนี้ได้มีการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ “หลักการ แนวคิด ขั้นตอน การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ” โดย รศ.ดร.วัฒน์สิทธิ์ ศิริวงศ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ กรณีการปนเปื้อนมลพิษสิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรม” โดย ผศ.ดร.ปกเกศ วงศาสุลักษณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “การสื่อสารความเสี่ยงและจัดการความเสี่ยง” โดย ดร.ภานุวัฒน์ ศรีโยธา วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น และหัวข้อ “หลักการพื้นฐาน รูปแบบวิธีการศึกษาทางวิทยาการระบาด และสถิติวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” โดย ผศ.ดร.อาทิตย์ โพธิ์ศรี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำหรับการอบรมในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสในการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ในการเพิ่มพูนองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการป้องกัน เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พื้นที่เฉพาะ และพื้นที่เสี่ยงมลพิษสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ