กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Webinar on Health Impact Assessment - A practical tool to build healthier community and support decision making) ในวันที่ 9 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุมกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ อาคาร 5 ชั้น 6 กรมอนามัย และผ่านระบบ Video Conference โดยมีนายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ เป็นประธานและกล่าวเปิดการสัมมนาวิชาการ พร้อมด้วยนางสาวนัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เข้าร่วมการสัมมนา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกของกรอบความร่วมมือฯ สถาบันการศึกษา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และการประยุกต์ใช้การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี ของประชาชนและเป็นเครื่องมือในการจัดทำข้อมูลเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนการตัดสินใจในระดับนโยบาย โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาวิชาการจากประเทศต่าง ๆ จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และประเทศไทย รวมทั้งสิ้น 77 คน
การสัมมนาเรื่อง การประเมินกระทบต่อสุขภาพ มีการอภิปรายในหัวข้อ“การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพแบบเร่งด่วน กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสงขลา” โดย ดร.สุวภาคย์ เบญจธนวัฒน์ สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวข้อ “ผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสมลพิษอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดย รศ.ดร.ไกรชาติ ตันตระการอาภา คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล หัวข้อ “การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีแหล่งท่องเที่ยวชุมชน” โดย ผศ.ดร.วรางคณา นาคเสน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวข้อ“การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรณีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ” โดย ผศ.ดร.ณัชชลิดา ยุคะลัง คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
สำหรับสัมมนาวิชาการ (Webinar) ในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้เรียนรู้การใช้ HIA ในระดับนโยบายในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การใช้ HIA ในการประเมินความเสี่ยงและคาดการณ์ผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การนำ HIA ไปใช้ในบริบทของแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และการใช้ HIA ในส่วนของการเก็บข้อมูลในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้ประเทศต่าง ๆ นำ HIA ไปประยุกต์ใช้ต่อไป