กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
การประชุมปรึกษาหารือแนวทางการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ รอยต่อ 3 จังหวัด (พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก) ปีงบประมาณ 2568 วันที่ 18 ธันวาคม 2567
กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จัดประชุมปรึกษาหารือแนวทางการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ รอยต่อ 3 จังหวัด (พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก) ในวันที่ 18 ธันวาคม 2567 ณ ห้องประชุมกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย และผ่านระบบ Video Conference เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และพิจารณาแนวทางการเฝ้าระวัง สื่อสาร และจัดการความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำรอยต่อ 3 จังหวัด (พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก) โดยมี นางสาวนัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นประธานการประชุม และมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนกองมาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กองการจัดสรรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ, กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ, กองบริหารสิ่งแวดล้อม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค, ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก, ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์, สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ และกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยที่ประชุม ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับผลการเฝ้าระวังการปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปา ในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำรอยต่อ 3 จังหวัด และการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งร่วมกันพิจารณาและให้ข้อคิดเห็นต่อแนวทางการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม แนวทางการสื่อสารข้อมูลผลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค ข้อเสนอในการปรับปรุงระบบประปาและข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่เหมืองแร่ทองคำ รอยต่อ 3 จังหวัด (พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก)
จากการประชุม ที่ประชุมมีข้อเสนอให้ปรับปรุงระบบประปา จำนวน 6 แห่ง ที่พบสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐานในน้ำประปา และเห็นชอบต่อแนวทางการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมฯ โดยวางแผนการเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในช่วงเวลาเดียวกัน รวมทั้งเห็นชอบต่อกลไกการใช้ข้อมูลเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านสู่การจัดการแก้ไขปัญหา ผ่านคณะกรรมการติดตามเพื่อตรวจสอบควบคุมและเฝ้าระวังการทำเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบเหมืองแร่ ทั้งนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จะประสานความก้าวหน้าของคณะกรรมการติดตามเพื่อตรวจสอบควบคุมและเฝ้าระวังฯ ต่อไป นอกจากนี้ที่ประชุมเสนอให้มีการประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการแก้ไขปัญหาระบบประปาทั้ง 6 แห่ง ดังนี้ 1) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่รวบรวมข้อมูลผลการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในบ่อสังเกตการณ์ ประสานข้อมูลแผนการบำรุงรักษาระบบประปาจากผู้ประกอบการเหมืองทอง 2) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล รวบรวมข้อมูลผลการเฝ้าระวังน้ำใต้ดินในบ่อสังเกตการณ์และประสานหน่วยงานส่วนภูมิภาคในการตรวจสอบระบบประปา 3) กรมควบคุมโรค ติดตามเฝ้าระวังประชาชนกลุ่มเสี่ยงในบริเวณประปาทั้ง 6 แห่ง และ 4) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์มีห้องปฎิบัติการที่สามารถตรวจวิเคราะห์พืชผักในห่วงโซ่อาหารได้