กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ จัดการประชุมสรุปผลการดำเนินงานการประยุกต์ใช้การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เป็นเครื่องมือพัฒนาเมืองสุขภาพดีในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ ห้องประชุม 1 กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ZOOM Meeting โดยมีนางสาวนัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นประธานการประชุม และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัยผู้สูงอายุ สำนักโภชนาการ สำนักทัตนสาธารณสุข กองแผนงาน และศูนย์อนามัยที่ 1-12 วัตถุประสงค์การประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลผลการถอดบทเรียนการดำเนินงานเมืองสุขภาพดีและแลกเปลี่ยนแนวทางการประยุกต์ใช้ HIA ในการดำเนินงาน
การถอดบทเรียนการดำเนินงานเมืองสุขภาพดี เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการประเมินผลการพัฒนารูปแบบเมืองสุขภาพดีในระดับท้องถิ่นของประเทศไทย ปี 2566 ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบข้อมูลบริบท ปัจจัยและทรัพยากรที่ใช้ กระบวนการดำเนินงาน และผลการดำเนินงานเมืองสุขภาพดี รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงในด้านปัจจัยกำหนดสุขภาพที่เกิดขึ้นภายหลังการขับเคลื่อนเมืองสุขภาพดี และเพื่อวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และจัดทำข้อเสนอในพัฒนาการดำเนินงานเมืองสุขภาพดีให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ โดยคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบเมืองสุขภาพดี 4 ภาค ประกอบด้วย เทศบาลเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เทศบาลเมืองจอมพล จังหวัดราชบุรี และเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองสุขภาพดีอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้นำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) มาเป็นเครื่องในการส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาเมืองให้มีการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกกลุ่มวัย
การประชุมในครั้งนี้ได้นำเสนอสรุปผลการถอดบทเรียนประเมินผลรูปแบบการดำเนินงานเมืองสุขภาพดี ประจำปี 2566 โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์รณภูมิ สามัคคีคารมย์ จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแลกเปลี่ยนแนวทางประยุกต์ใช้ HIA ในการดำเนินงานเมืองสุขภาพดีร่วมกับศูนย์อนามัย ในประเด็นการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในการจัดการมูลฝอยทั่วไป ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน กรณีบ่อขยะในพื้นที่เทศบาลเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร โดยศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี และโครงการเฝ้าระวัง พยากรณ์สุขภาพ และการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อ จังหวัดชลบุรี โดยศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี เป็นต้น