กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
วันที่ 27 มกราคม 2568 กองประเมินผลกระทบต่อสสุขภาพ กรมอนามัย ได้จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในหน่วยงาน ณ ห้องประชุม 1 กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย โดยมีนางสาวเบญจวรรณ ธวัชสุภา รองผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นประธานการประชุม
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้โดยวิทยากรในหน่วยงานเพื่อให้ทุกคนในองค์กร สามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเอง และสามารถนำไปปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีหัวข้อการเรียนรู้คือ Research Methodology and Literature Review : Systematic Review Literature โดยมี นางสาวกิรณา เทวอักษร รักษาการในตำแหน่งนักวิชาการวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ เป็นวิทยากรบรรยาย ซึ่งในการจัดประชุมได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคเกี่ยวกับกระบวนการสืบค้นและประเมินผลข้อมูลจากงานวิจัยแบบเป็นระบบ เป็นการศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยที่มีอยู่ช่วยให้เห็นภาพรวมของผลการศึกษาในหัวข้อนั้นๆ อย่างครบถ้วน ช่วยให้สามารถระบุช่องว่างในการวิจัยที่ยังไม่ได้รับการศึกษา หรือแนวโน้มใหม่ๆ ที่อาจเป็นประเด็นสำคัญในอนาคต การทบทวนวรรณกรรมที่มีความละเอียดสามารถนำมาพัฒนาหรือปรับปรุงวิธีการวิจัยในอนาคตได้
โดยมีรายละเอียดเนื้อหาสรุปได้ดังนี้
การทบทวนวรรณกรรมแบบเป็นระบบ (Systematic Review Literature) คือ กระบวนการสืบค้นและประเมินผลข้อมูลจากงานวิจัยหรือวรรณกรรมที่มีอยู่ในสาขาวิชาใดสาขาหนึ่งอย่างมีระเบียบและเป็นระบบ โดยมีขั้นตอนหลักดังนี้:
1. กำหนดคำถามการวิจัยด้วยการตั้งคำถามที่ชัดเจน เพื่อมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์ในการทบทวนงานวิจัย
2. การกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกงานวิจัยที่เหมาะสม การสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลต่างๆ แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมถึงการกำหนดคำสำคัญ
3. การประเมินคุณภาพของงานวิจัย โดยวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือ รวมถึงการสังเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยที่สืบค้นอย่างเป็นระบบ
ประโยชน์ของการทบทวนวรรณกรรมแบบเป็นระบบ
• การคัดเลือกงานวิจัยที่เหมาะสม: ช่วยให้ได้ภาพรวมที่ชัดเจนและครบถ้วนเกี่ยวกับผลการศึกษาที่มีอยู่ในหัวข้อที่ต้องการ
• ลดอคติ: ด้วยการใช้เกณฑ์และกระบวนการที่เป็นระบบ ทำให้การทบทวนนี้ช่วยลดความลำเอียงในการเลือกงานวิจัย และทำให้ผลลัพธ์มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
• ข้อมูลที่เชื่อถือได้: ผลลัพธ์จากการทบทวนนี้สามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจที่มีพื้นฐานจากหลักฐานที่ชัดเจนและเชื่อถือได้
• การระบุช่องว่างในความรู้: ช่วยให้สามารถเห็นช่องว่างในงานวิจัยที่ยังไม่ได้รับการศึกษา หรือประเด็นใหม่ๆ ที่ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติม
• ข้อเสนอแนะสำหรับการนำไปปฏิบัติและนโยบาย: การทบทวนนี้สามารถให้ข้อเสนอแนะที่สำคัญสำหรับการปฏิบัติในภาควิชาการ การแพทย์ หรือการกำหนดนโยบายในระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง