กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยใช้แนวทางเมืองสุขภาวะขององค์การอนามัยโลก ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2568 ณ โรงแรมแกรนด์ พาลาซโซ่ พัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการจัดเก็บและใช้ข้อมูลเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในการกำหนดนโยบายสาธารณสุขระดับพื้นที่ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีแนวทางการพัฒนาเมืองสอดคล้องกับแนวคิดเมืองสุขภาวะขององค์การอนามัยโลก โดยมี Dr. Jos Vandelaer ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย นางสาวนัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กล่าวเปิดการประชุม
การประชุมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทีมห้องปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยธรรมาภิบาลเมืองเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Regional Laboratory on Urban Governance for Health and Well-being) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ปัทมพร วงค์วิริยะ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านการรับรองเมืองสุขภาพดี ระดับทองในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองบ้านไผ่ เทศบาลตำบลเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองกุฉินารายณ์ เทศบาลตำบลหัวนาคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ เทศบาลเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม และเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ เขตสุขภาพที่ 7
การประชุมมุ่งเน้นให้กระบวนการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการ โดยประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ได้แก่ การบรรยายให้ความรู้ด้านวิชาการ การฝึกปฏิบัติการจัดทำแผนสุขภาวะเมืองผ่านแบบฟอร์มขององค์การอนามัยโลก การวิเคราะห์สถานการณ์เมืองด้วยเครื่องมือ Fishbone และ Feasibility Analysis การลงพื้นที่ศึกษาดูงานในเทศบาลตำบลคลองตำหรุ จ.ชลบุรี ซึ่งได้รับการรับรองเป็นเมืองสุขภาพดีระดับทอง และมีจุดเด่นด้านการจัดการขยะ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ในชุมชน ที่สำคัญ การประชุมครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากเทศบาลเมืองบ้านสวน จังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลกให้เป็น “เมืองสุขภาพดีระดับก้าวหน้า” (Progressive Level) ในเวทีHealthy Cities แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันใต้และตะวันออก (WHO-SEARO) มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การดำเนินงาน ซึ่งมีความโดดเด่นในการบูรณาการแนวคิดเมืองสุขภาวะเข้ากับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในพื้นที่อื่นต่อไป