บทบาทกรมอนามัยกับการดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิษณุโลก
บทบาทกรมอนามัยกับการดูแลสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีเหมืองแร่ทองคำ จากปัญหาการร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด คือ จังหวัดพิจิตร จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดพิษณุโลก รวมทั้งข้อมูลผลการตรวจสุขภาพประชาชน จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม พบว่ามีปริมาณโลหะหนักในเลือดและปัสสาวะสูงนั้น เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 นายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร จากนั้นได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขในการจัดการปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพกรณีเหมืองแร่ทองคำ ในวันที่ 30 มกราคม 2558 และกรมอนามัยได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมประเด็นอาหารและน้ำ รวมถึงการนำข้อมูลมาสื่อสารเพื่อให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการบริโภคอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2558 ได้มีการประชุมติดตามความก้าวหน้ารวมทั้งปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งนี้กรมอนามัยได้ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานในส่วนที่ได้รับมอบหมาย คือการวางแผนเก็บตัวอย่างน้ำและอาหาร (พืช ผัก สัตว์น้ำ) ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด เมื่อวันที่ 26 27 กุมภาพันธ์ 2558 กรมอนามัยโดยสำนักโภชนาการ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม และกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ คือ ศูนย์อนามัยที่ 8 ศูนย์อนามัยที่ 9 สสจ.พิจิตร รพ.พิจิตร รพ.ทับคล้อ และรพ.สต.เขาเจ็ดลูก ได้ประชุมปรึกษาหารือเพื่อวางแนวทางในการดำเนินการลงพื้นที่เก็บข้อมูลพฤติกรรมและรูปแบบการบริโภคอาหารและน้ำของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด (พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก) ที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยใช้แบบสอบถามในการสัมภาษณ์ประชาชนในแต่ละกลุ่มอายุ( 0-5 ปี , 6-14 ปี, 15-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป) ว่าบริโภคอะไร ปริมาณเท่าไร และบริโภคมานานเท่าไร ในรอบ 7 วันที่ผ่านมา ซึ่งผลจากการประชุมหารือในครั้งนี้ได้กำหนดการลงพื้นที่เก็บข้อมูลฯ ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ในวันที่ 1 6 มีนาคม 2558 และลงพื้นที่ ต.ท้ายดง อ.วังโปร่ง จ.เพชรบูรณ์ และ พื้นที่ ต.วังโพลง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ในวันที่ 9 11 มีนาคม 2558 ซึ่งจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลฯ ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากผู้นำหมู่บ้าน และ อสม.ในพื้นที่นำทีมเจ้าหน้าที่ลงเก็บข้อมูล และได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการตอบแบบสอบถาม เป็นอย่างดี ในส่วนของข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามนั้น จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนจากการรับสัมผัสอาหารและน้ำ และต้องมีการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้คำแนะนำในการเลือกบริโภคชนิด/ปริมาณของอาหารและน้ำในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยและเหมาะสมตามกลุ่มวัย จากนั้นในวันที่ 13 มีนาคม 2558 จะมีการประชุมหารือ แนวทางและผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำ 3 จังหวัดรอยต่อ (พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก) ณ ศูนย์อนามัยที่ 9 จ.พิษณุโลก โดยมีวัตถุประสงค์ของการประชุมเพื่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และร่วมกันวางแผนการดำเนินงานเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในประเด็นอาหารและน้ำ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป ----------------------------------------- ส่วนพัฒนาศักยภาพและสื่อสารความเสี่ยง / 13 มีนาคม 2558