คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การประเมินความเสี่ยงจากกลุ่มสารประกอบประเภทโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons : PAHs) ที่เกิดจากการปิ้งย่างอาหารในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

16.07.2564
1207
0
แชร์
16
กรกฎาคม
2564

ชื่อเรื่อง : การประเมินความเสี่ยงจากกลุ่มสารประกอบประเภทโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons : PAHs) ที่เกิดจากการปิ้งย่างอาหารในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Development of risk assessment of Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) in Organic burnings in Northern Thailand

ปีพิมพ์ : 2560

บทคัดย่อ :

ผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสสาร PAHs แบบเรื้อรังคือโรคมะเร็งซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไทย โดยมะเร็งปอดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 รองจากโรคมะเร็งตับ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งสาเหตุของโรคมะเร็งปอดไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่เพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากสาเหตุจากปัจจัยอื่น ๆ ด้วย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนข้อมูลต่าง ๆ และประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสสาร PAHs ในกลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวที่เกิดจากการปิ้งย่างอาหารในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย โดยทำการสุ่มเก็บตัวอย่างอากาศและอาหารจากการปิ้งย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์สาร PAHs จำนวน 18 ชนิด และใช้ข้อมูลทุติยภูมิของการตรวจวัดความเข้มข้นของสาร PAHs ชนิดต่าง ๆ ในบรรยากาศ โดยใช้วิธี Monte Carlo simulation พื้นที่ศึกษาคือ จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มเป้าหมายมี 3 กลุ่มคือ ประชาชนทั่วไป ผู้บริโภคอาหารปิ้งย่าง และผู้จำหน่ายอาหารปิ้งย่าง ผลการศึกษาในกลุ่มประชาชนทั่วไป พบว่า โอกาสของการเกิดมะเร็งที่น้อยที่สุดคือ 3.36 x 10–8 สูงสุดคือ 0.000197 ค่าเฉลี่ยคือ 2.09 x 10–6 เปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 คือ 1.06 x 10–6 และที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 95 คือ 3.50 x 10–6 และหากเทียบกับความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตลอดชีวิตที่ยอมรับได้ (Acceptable lifetime cancer risk) ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ 1 ใน 1 ล้าน (1.0 x 10–6) ความเสี่ยงที่ได้จากการศึกษานี้ที่เปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 และ 95 สูงเป็น 1.06 และ 3.50 เท่าของความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตลอดชีวิตที่ยอมรับได้ และในเกณฑ์เดียวกันนี้ ค่ามาตรฐานเสนอแนะของความเข้มข้นของสาร PAHs รวม(เฉพาะสารก่อมะเร็ง) ในบรรยากาศ คือ 1.6667 ng/m3 กลุ่มผู้บริโภคอาหารปิ้งย่าง ความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเมื่อเทียบกับความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตลอดชีวิตที่ยอมรับได้ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ 1 ใน 1 ล้าน (1.0 x 10–6) สำหรับประชากรไทยระดับเปอร์เซ็นไทล์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตลอดชีวิตที่ยอมรับได้ คือ 45 สำหรับการบริโภคเนื้อย่าง 30 สำหรับการบริโภคไก่ย่าง 65 สำหรับการบริโภคไส้อั่วย่าง และ 35 สำหรับการ บริโภคปลาดุกย่างและหมูย่าง สำหรับชายไทย ระดับเปอร์เซ็นไทล์ที่มีความเสี่ยงที่สูงกว่าความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตลอดชีวิตที่ยอมรับได้ คือ 20 สำหรับการบริโภคเนื้อย่าง 40 สำหรับการบริโภคไก่ย่าง 55 สำหรับการบริโภคไส้อั่วย่างและปลาดุกย่าง และ 50 สำหรับการบริโภคหมูย่าง และสำหรับหญิงไทย ระดับเปอร์เซ็นไทล์ที่ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตลอดชีวิตที่ยอมรับได้ คือ 85 สำหรับการบริโภคเนื้อย่าง 45 สำหรับการบริโภคไก่ย่าง 75 สำหรับการบริโภคไส้อั่วย่าง 35 สำหรับการบริโภคปลาดุกย่าง และ 60 สำหรับการบริโภคหมูย่าง โดยภาพรวมชายไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งจากการบริโภคอาหารปิ้งย่างทุกชนิดมากกว่าหญิงไทย ยกเว้นไส้อั่วย่าง และหากใช้เกณฑ์ความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตลอดชีวิตที่ยอมรับได้ของประเทศสหรัฐอเมริกาที่ 1 ใน 1 ล้าน (1.0 x 10–6) ค่ามาตรฐานเสนอแนะของความเข้มข้นของสาร PAHs รวมในเนื้อย่าง ไก่ย่าง ไส้อั่วย่าง ปลาดุกย่าง และหมูย่าง ในประชากรไทย คือ 0.2158, 0.3629, 0.8157, 0.6293 และ 0.4097 μg/kg ในชายไทย คือ 0.2041,0.1603, 0.8003, 0.6882 และ 0.3373 μg/kg และในหญิงไทย คือ 1.4227, 0.1859, 1.0489, 0.4400และ 0.3952 μg/kg สำหรับกลุ่มผู้จำหน่ายอาหารปิ้งย่าง จากการเก็บตัวอย่างควันจากเตาปิ้งย่างของร้านจำหน่ายอาหาร 5 แห่ง เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์สาร PAHs พบว่าทุกค่าได้ผลการวิเคราะห์ต่ำกว่าค่าจำกัดการตรวจวัด (Detection limit) ที่ 0.01 ppm ดังนั้นจึงไม่สามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงในกลุ่มนี้ได้

บทคัดย่อภาษาอังกฤษ :

นักวิจัย : กรวิภา ปุนณศิริ ,เบญจวรรณ ธวัชสุภา ,กุลสตรี ชัชวาลกิจกุล

คำสำคัญ : ประเมินความเสี่ยง, Risk Assessment , PAHs , Polycyclic Aromatic Hydrocarbons , Air Pollution

 

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

การประเมินความเสี่ยงจากกลุ่มสารประกอบประเภทโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons : PAHs) ที่เกิดจากการปิ้งย่างอาหารในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย
ขนาดไฟล์ 8MB
ดาวน์โหลด 140 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน