คุณกำลังมองหาอะไร?

กา

การพัฒนาตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี

กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ

22.07.2564
55
0
แชร์
22
กรกฎาคม
2564

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี

ชื่อเรื่องภาษาอังกฤษ : Development of Healthy Community Indicators for Thailand

ปีพิมพ์ : 2562

บทคัดย่อ :

โครงการพัฒนาตัวชี้วัดอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี มีขอบเขตการดำเนินงานโดย การทบทวนและรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อทบทวนและปรับปรุงตัวชี้วัด และกำหนดเกณฑ์การวัดสภาวการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่เอื้อต่อสุขภาพดี ได้จำนวน 8 ด้าน ได้แก่ ตัวชี้วัดด้านคุณภาพอากาศ ด้านที่อยู่อาศัย ด้านมูลฝอย ด้านสิ่งปฏิกูล ด้านน้ำใช้-น้ำเสีย ด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ด้านการจัดการเหตุรำคาญ และด้านการบริหารจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวชี้วัดทุกด้านรวมทั้งหมด 81 ตัวชี้วัด เกณฑ์ตัวชี้วัดเป็น 4 ระดับ คือ ระดับดีมาก (4) ระดับดี (3) ระดับปานกลาง (2) และระดับไม่ดี (1) กำหนดโดยพิจารณาจากกฎหมาย ข้อกำหนด คำแนะนำทางวิชาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับประเทศและนานาชาติ แนวปฏิบัติโดยทั่วไป และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ คัดเลือกพื้นที่ศึกษาตัวชี้วัดและเกณฑ์การวัด คือ จังหวัดชลบุรี เนื่องจากมีขนาดพื้นที่เหมาะสม มีความหลากหลายของระดับการพัฒนา และประกอบด้วยพื้นที่เขตเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และอื่น ๆ สร้างเครื่องมือและทดสอบเครื่องมือในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี พัฒนาและปรับเครื่องมือเป็นแบบสอบถามในระดับครัวเรือนและชุมชน ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในจังหวัดชลบุรี โดยระดับชุมชน เลือกทุกเทศบาลในจังหวัดชลบุรีและเขตปกครองพิเศษ คือ เมืองพัทยา ระดับครัวเรือน เลือกครัวเรือนในระดับเมืองพัทยาและเทศบาลนคร จำนวนเทศบาลละ 50 ครัวเรือน ระดับเทศบาลเมืองเลือกจำนวนเทศบาลละ 40 ครัวเรือน ระดับเทศบาลตำบลเลือกจำนวนเทศบาลละ 20 ครัวเรือน และ ระดับองค์การบริหารส่วนตำบลเลือกจำนวนละ 5 ครัวเรือน ผลการศึกษาได้ครัวเรือนตัวอย่างภายใต้เขตเทศบาล 47 เทศบาล และเขตปกครองพิเศษ 1 เขต (เมืองพัทยา) ประกอบด้วยจำนวนครัวเรือน 1,274 ครัวเรือน และมีครัวเรือนตัวอย่าง 1,514 ครัวเรือนที่อยู่ภายใต้เขตการปกครองของตำบลจำนวน 92 ตำบล ทำการวิเคราะห์ข้อมูลตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการต่อการมีสุขภาพดีทั้ง 8 ด้าน ด้วยวิธีการทางสถิติการวิเคราะห์ปัจจัยองค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory factor analysis) เพื่อยืนยันว่า ตัวชี้วัดต่าง ๆ ประกอบกันเป็นโครงสร้างของตัวชี้วัดตามทฤษฎี หรือหลักเกณฑ์ทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมหรือไม่ ขัดแย้งหรือสอดคล้องกับค่าสถิติที่บ่งชี้ รวมทั้งตัวชี้วัดสามารถอธิบายหรือบ่งชี้ถึงองค์ประกอบย่อยได้ด้วยค่าทางสถิติจากสัมประสิทธิ์ถดถอยมาตรฐาน (Standardized regression coefficient) จากนั้นนำมาเป็นค่าถ่วงน้ำหนักของตัวชี้วัดทุกตัวชี้วัดเพื่อประกอบเป็นค่าคะแนนขององค์ประกอบย่อย ๆ ในด้านนั้น เพื่อสามารถจัดระดับอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของทั้งระดับครัวเรือน และ/หรือ ระดับพื้นที่อย่างเท่าเทียมกัน ทำการศึกษาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบย่อยในแต่ละด้านโดยวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (correlation coefficient) ใช้สถิติการวิเคราะห์สมการโมเดลเชิงโครงสร้างระดับ 2 (Structural equation modeling; level 2) เพื่อศึกษาองค์ประกอบย่อยที่ประกอบด้วยตัวชี้วัดต่างๆ ที่สามารถอธิบายและบ่งชี้เป็นค่าตัวแทนคะแนนในด้านนั้น ศึกษาค่าคะแนนรวมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีที่ประกอบกันทั้ง 8 ด้านที่จะมีช่วงคะแนนมาตรฐานระหว่าง 0-4 คะแนนด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยหรือองค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory factor analysis) และการวิเคราะห์ส่วนประกอบสำคัญ (Principal component analysis) ได้ระดับสภาวการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมระดับไม่ดีจนถึงดีมาก ในบริบทพื้นที่เทศบาล พบว่า ตัวชี้วัดที่มีระดับคะแนนดีมาก คือ ตัวชี้วัดขององค์ประกอบด้านเหตุรำคาญ ตัวชี้วัดที่มีระดับคะแนนดี คือ ตัวชี้วัดขององค์ประกอบด้านที่อยู่อาศัย และตัวชี้วัดที่มีระดับคะแนนปานกลาง คือ ตัวชี้วัดขององค์ประกอบด้านคุณภาพอากาศ ด้านมูลฝอย ด้านสิ่งปฏิกูล และด้านการบริหารจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ตัวชี้วัดที่มีระดับคะแนนไม่ดี คือ องค์ประกอบด้านด้านน้ำใช้-น้ำเสีย ส่วนการคำนวณรวมคะแนนสภาวการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมตามตัวชี้วัด 8 องค์ประกอบในบริบทพื้นที่ตำบล พบว่า ไม่มีตัวชี้วัดที่มีระดับคะแนนดีมาก ตัวชี้วัดที่มีระดับคะแนนดี คือ ตัวชี้วัดขององค์ประกอบด้านที่อยู่อาศัย และด้านเหตุรำคาญ ตัวชี้วัดที่มีระดับคะแนนปานกลาง คือ ตัวชี้วัดขององค์ประกอบด้านคุณภาพอากาศ ด้านด้านน้ำใช้-น้ำเสีย ด้านสิ่งปฏิกูล และด้านการบริหารจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ตัวชี้วัดที่มีระดับคะแนนไม่ดี คือ องค์ประกอบด้านมูลฝอย ศึกษาและกำหนดกลุ่มเกณฑ์ด้วยโมเดลแบบผสมแบบหลายประชาการ (mixture modeling) เพื่อจัดกลุ่มของคะแนนรวมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของแต่ละครัวเรือนมีจำนวน n กลุ่มตามลักษณะของข้อมูล หรือรูปร่างที่ปรากฏสอดคล้องกับจำนวนกลุ่มประชากรตามหลักความน่าจะเป็น นำค่าคะแนนมาตรฐานกระจายในแผนที่ของจังหวัดชลบุรี โดยแยกออกเป็น 2 แผนที่ คือ ระดับย่อยของตำบล และระดับเขตการปกครองเทศบาล สร้างแผนที่ด้วยวิธีอิงเกณฑ์มาตรฐานและข้อเสนอแนะของทีมผู้เชี่ยวชาญ และสถิติ Mixture Model การแบ่งระดับเทศบาลด้วยวิธีอิงเกณฑ์มาตรฐานและเกณฑ์ของทีมผู้เชี่ยวชาญ 4 ระดับ พบว่า คะแนนรวมตัวชี้วัดอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ภายใต้การปกครองของเทศบาล จำนวน 47 เทศบาลและเขตปกครองพิเศษ 1 เขต (เมืองพัทยา) สามารถจำแนกออกได้เพียง 2 ระดับ คือ ระดับปานกลาง ช่วงคะแนนระหว่าง 1-2 คะแนน จำนวน 6 เทศบาล คิดเป็นร้อยละ 12.50 และระดับดี ช่วงคะแนนระหว่าง 2-3 คะแนน จำนวน 42 เทศบาล คิดเป็นร้อยละ 87.50 โดยที่ไม่มีคะแนนรวมตัวชี้วัดอนามัยสิ่งแวดล้อมของเทศบาลใด ที่ตกอยู่ในระดับต่ำ 0-1 คะแนน ส่วนการแบ่งระดับเทศบาลด้วยวิธีสถิติ Mixture Model พบว่า คะแนนรวมตัวชี้วัดอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ภายใต้การปกครองของเทศบาล จำนวน 47 เทศบาล และเขตปกครองพิเศษ (เมืองพัทยา) 1 เขต สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 ระดับ โดยระดับดีมากพบจำนวน 7 เทศบาลคิดเป็นร้อยละ 14.58 ด้วยค่าคะแนนเฉลี่ย 2.746 คะแนน ระดับดีพบจำนวน 23 เทศบาล คิดเป็นร้อยละ 47.92 ด้วยค่าคะแนนเฉลี่ย 2.235 คะแนน และระดับปานกลาง พบจำนวน 18 เทศบาล คิดเป็นร้อยละ 37.50 ด้วยค่าคะแนนเฉลี่ย 1.794 คะแนน การแบ่งระดับตำบลด้วยวิธีอิงเกณฑ์มาตรฐานและเกณฑ์ของทีมผู้เชี่ยวชาญ 4 ระดับ พบว่า คะแนนรวมตัวชี้วัดอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ภายใต้การปกครองของตำบล สามารถจำแนกออกได้ 2 ระดับ คือ ระดับปานกลาง คะแนนระหว่าง 1-2 จำนวน 47 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 51.09 และระดับดี คะแนนระหว่าง 2-3 จำนวน 45 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 48.91 ส่วนแบ่งระดับตำบลด้วยวิธีสถิติ Mixture Model พบว่า คะแนนรวมตัวชี้วัดอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี สามารถจำแนกออกได้ 4 ระดับ โดยระดับดีมาก ช่วงคะแนนระหว่าง 3-4 คะแนน พบจำนวน 16 ตำบลคิดเป็นร้อยละ 17.39 ระดับดี ช่วงคะแนนระหว่าง 2-3 คะแนน พบจำนวน 45 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 48.91 ระดับปานกลาง ช่วงคะแนนระหว่าง 1-2 คะแนน พบจำนวน 30 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 32.61 และระดับไม่ดี ช่วงคะแนนระหว่าง 0-1 คะแนน พบจำนวน 1 ตำบล คิดเป็นร้อยละ 1.09 สรุปอันดับคะแนนสภาวการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมของจังหวัดชลบุรีที่มีคะแนนรวมมากที่สุด 5 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลดอนหัวฬ่อ เทศบาลตำบลพานทอง เทศบาลนครแหลมฉบัง เทศบาลเมืองพนัสนิคม และเทศบาลตำบลหนองไผ่แก้ว ในขณะที่สภาวการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีที่มีคะแนนน้อยที่สุด 5 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองปรกฟ้า เทศบาลตำบลธาตุทอง เทศบาลตำบลหนองใหญ่ และเทศบาลตำบลหนองปลาไหล ข้อสังเกตสำคัญที่พบคือ ถึงแม้เขตปกครองพิเศษ (เมืองพัทยา) ซึ่งมีทรัพยากรและศักยภาพในพัฒนาการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมสูง แต่มีคะแนนรวมของตัวชี้วัดอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีอยู่เพียงในระดับดีเท่านั้น ส่วนสภาวการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีของเขตการปกครองระดับตำบล จังหวัดชลบุรี ที่มีคะแนนรวมมากที่สุด5 ตำบล ได้แก่ ตำบลเขาคันทรง ตำบลทุ่งสุขลา ตำบลตะเคียนเตี้ย ตำบลพานทอง และตำบลเขาไม้แก้ว ในขณะที่สภาวการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีที่มีคะแนนน้อยที่สุด 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองกะขะ ตำบลคลองพลู ตำบลบ่อกวางทอง ตำบลพลวงทอ และตำบลห้างสูง ตัวชี้วัดที่เป็นปัจจัยเอื้อต่อคะแนนสภาวการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อมของจังหวัดชลบุรีถูกคัดกรองโดย พิจารณาตัวชี้วัดเป็นรายด้านทั้งหมด 8 ด้านอย่างอิสระกันด้วยสมการถดถอยเชิงเส้นแบบพหุตัวแปร ด้วยเทคนิค stepwise และ Multiple regression analysis ผลการวิเคราะห์พบว่า มีตัวชี้วัดทางด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีทั้งหมด 28 ตัวชี้วัด โดยมีตัวชี้วัดที่ส่งผลต่อร้อยละของคะแนนรวมด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) การรับทราบข้อมูลข่าวสารด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานของรัฐที่ดูแลพื้นที่ในชุมชน (2) การเข้าร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและการมีสุขภาพดีในรอบปี (3) การรับรู้ข้อมูลของครัวเรือนเกี่ยวกับแผนตอบโต้ภัยพิบัติ สาธารณภัย และอุบัติภัย (4) การจัดกิจกรรมของกลุ่มที่ส่งเสริมงานอนามัยสิ่งแวดล้อมและมีสุขภาพดีในสมาคม/ชมรมในชุมชน และ (5) การปนเปื้อนจุลินทรีย์บ่งชี้ในน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในชุมชน ในการนำตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีไปใช้เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ ควรมีการการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อทบทวนแนวทางและระบบการเก็บรวบรวมข้อมูลและพัฒนาตัวชี้วัดต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่แต่ละระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวชี้วัดที่อยู่ในข้อกำหนดตามกฎหมาย และ/หรือมีข้อมูลทางวิชาการที่บ่งชี้ความเชื่อมโยงต่อผลกระทบต่อสุขภาพและสภาการณ์อนามัยสิ่งแวดล้อม และมีการประยุกต์ใช้ตัวชี้วัดอนามัยสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการให้การดำเนินงานอนามัยสิ่งแวดล้อมยั่งยืนและส่งเสริมสุขภาพของประชาชน

นักวิจัย : สุกานดา พัดพาดี ,ปรียานุช บูรณะภักดี ,พาสนา ชมกลิ่น ,พนิตา เจริญสุข ,กรวิภา ปุนณศิริ ,นัฐพล ศิริหล้า ,เอกรินทร์ วินันท์ ,เอกชัย ชัยเดช ,พลาวัตร พุทธรักษ์

คำสำคัญ : ตัวชี้วัด, ตัวชี้วัดอนามัยสิ่งแวดล้อม, ชุมชน, ชุมชนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี

ไฟล์ที่เกี่ยวข้อง

การพัฒนาตัวชี้วัดด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี
ขนาดไฟล์ 6MB
ดาวน์โหลด 10 ครั้ง
ดาวน์โหลด
แจ้งไฟล์เสีย

กรมอนามัย
เรามีสาระสุขภาพดีๆ
ส่งตรงถึงคุณ
ทุกวัน